วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

...สังขารไม่เที่ยง.. (พระพุทธเจ้าโปรดพระวักกลิเถระเมื่อครั้งอาพาธหนัก)



พระพุทธเจ้าโปรดพระวักกลิเถระเมื่อครั้งอาพาธหนัก

พระพุทธองค์ทรงสถาปนา...พระวักกลิเถระ...ไว้ในตำแหน่ง...เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสัทธาธิมุติ...


ในพระไตรปิฎกฉบับที่ ๑๗ (พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค) ได้กล่าวถึงประวัติของท่านไว้ค่อนข้างจะแปลกออกไปจากที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ในครั้งนั้น พระวักกลิเถระเมื่อปวารณาออกพรรษาแล้ว ท่านได้ออกเดินทางมาเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขณะที่เดินทางมาถึงกลางพระนครราชคฤห์นั้น ท่านก็เกิดอาพาธหนัก เท้าทั้งสองข้างก้าวไม่ออก พวกชาวเมืองแถวนั้น นำท่านนอนไปในวอ หามท่านไปไว้ในโรงที่ทำงานของช่างหม้อเหล่านั้น แต่มิใช่เป็นโรงที่เขาพักอาศัยกัน

ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวขอให้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลวักกลิภิกษุอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด

ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วก็ลุกขึ้นจากเตียง

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า “อย่าเลย วักกลิเธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น”

พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า “ดูกรวักกลิ เธอพอทนได้หรือ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้”

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร? ดูกรวักกลิผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระวักกลิด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พระวักกลิได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว ขอให้หามท่านไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ด้วยท่านคิดว่า ท่านเป็นพระภิกษไม่สมควรจะสิ้นชีวิตในบ้านคน อันจะนำความลำบากมาให้แก่เจ้าบ้าน ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้นจึงอุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้ เทวดาเหล่านั้น ได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว ก็หายไป ณ ที่นั้นเอง

ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งให้นำข้อความที่เทวดา ๒ องค์ที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เมื่อกลางคืนเล่าถวายพระบรมศาสดาให้ท่านพระวักกลิฟัง แล้วรับสั่งให้บอกแก่พระวักกลิว่า พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์

เมื่อท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง เพราะว่า ภิกษุผู้นั่งบนอาสนะสูงเช่นเราไม่บังควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียงแล้ว จึงเล่าพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์แก่พระวักกลิ

พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยทูลพระผู้มีพระภาคด้วยว่า

วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนักได้รับทุกขเวทนา บัดนี้ไม่เคลือบแคลงแล้วว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใด (ที่) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ (สิ่งนั้น) มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ท่าน

ท่านไม่เคลือบแคลงแล้วว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใด (ที่) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ (สิ่งนั้น) มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี กำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ท่าน ดังนี้

ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้วกลับไป

ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้น กลับไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามาได้ยินว่า พระเถระเป็นผู้มีมานะจัด มองไม่เห็นการกลับฟุ้งขึ้นมาอีก แห่งกิเลสทั้งหลาย (ที่ถูกข่มไว้ได้ด้วยสมาธิและวิปัสสนา) จึงสำคัญว่าท่านเป็นพระขีณาสพแล้ว และคิด ต่อไปอีกว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เราจะอยู่ไปทำไม เราจักเอามีดมาฆ่าตัวตาย เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงได้เอามีดที่คมมาเฉือนก้านคอ ทันใดนั้น ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้นแก่ท่าน ขณะนั้นท่านจึงทราบว่าตนเองยังเป็นปุถุชนอยู่ เลยรีบคว้าเอากัมมัฏฐานข้อเดิมมาพิจารณาเนื่องจากว่าท่านยังไม่ได้ละทิ้งกัมมัฏฐาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วมรณภาพในทันที

ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงถ้วยคำที่พระวักกลิฝากมากราบทูลพระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคเมื่อได้ฟังคำที่พระวักกลิฝากมากราบทูลแล้วจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า เราจะพากันไปยังที่อยู่ของพระวักกลิ แล้วจึงได้เสด็จไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงที่นั้นแล้ว ได้ทอดพระเนตรเห็น ร่างของท่านพระวักกลินอนอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว ในเวลานั้นก็ ปรากฏเป็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอกลอยไปมาทั่วทุกทิศ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปมาทั่วทุกทิศหรือไม่? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่าเห็น พระเจ้าข้า

พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารใจหยาบช้า ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว



..............................................................................

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

พุทธวจนในธรรมบท...คำพูด...




สหสฺสํ อปิ เจ วาจา
อนตฺถปทสญฺหิตา
เอกํ อตฺถปทํ เสยฺโย
ยํ สุตฺวา อุปสมฺมติ ฯ


คำพูดที่เหลวไหลไร้ประโยชน์ตั้งพันคำ
ก็สู้คำพูดที่มีประโยชน์คำเดียวไม่ได้
เพราะฟังแล้วทำให้จิตใจสงบ


Better than a thounsand useless words
Is one beneficial single word,
Hearing which one is pacified.

วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

พุทธวจนในธรรมบท



ทิวา ตปติ อาทิจฺโจ
รตฺติมาภาติ จนฺทิมา
สนฺนทฺโธ ขตฺติโย ตปติ
ฌายี ตปติ พฺราหฺมโณ
อถ สพฺพมโหรตฺตึ
พุทฺโธ ตปติ เตชสา ฯ ๓๘๗ ฯ


พระอาทิตย์ สว่างกลางวัน
พระจันทร์ สว่างกลางคืน
นักรบสง่างามเมื่อสวมเกราะเตรียมรบ
พราหมณ์ สง่างามเมื่อเข้าฌาน
แต่พระพุทธเจ้าสง่างามทั้งกลางวันกลางคืน


By day the sun shines.
By night the moon is bright.
Armoured shines the warrior.
In meditation the brahmana glows.
But all day and all night,
The Buddha shines in splendour.



.....................................................................

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

บทสวดมนต์ โมรปริตต์

 

พระคาถาโมรปริตต์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พระคาถาพญายูงทอง" สำหรับความศักดิ์สิทธิ์ของคาถานี้นั้น หลายท่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วคาถา "นะโมวิมมุตตานัง นะโมวิมุตติยา" เป็นคาถาที่ปรากฏในตำนานโมรปริตต์ (อุเทตะยัญจักขุมา) ซึ่งเป็นนิทานชาดก โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น "พญานกยูงทอง"


บทสวดมนต์โมรปริตต์ (บาลีแปลไทย)


๏ อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา
๏ พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง

หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส
อย่างเอกกำลังอุทัยขึ้นมาทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี

ตํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งทอ แสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี

ตยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ ทิวสํ
ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุข ตลอดวัน

เย พฺราหฺมณา เวทคุ สพฺพธมฺเม
พราหมณ์เหล่าใดผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง

เต เม นโม เต จ มํ ปาลยนฺตุ
ขอพรามหณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย

นมตฺถุ พุทฺธานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

นมตฺถุ โพธิยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ

นโม วิมุตฺตานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

นโม วิมุตฺติยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา
นกยูงนั้น เจริญพระปริตต์นี้แล้ว

โมโร จรติ เอสนา ฯ
จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร.

อเปตยญฺจกฺขุมา เอกราชา
พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง

หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส
อย่างเอก ส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป

ตํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งส่องสว่างไปทั่วปฐพี

ตยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ รตฺตึ
ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน

เย พฺราหฺมณา เวทคุ สพฺพธมฺเม
พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง

เต เม นโม
ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า

เต จ มํ ปาลยนฺตุ
และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย

นมตฺถุ พุทฺธานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

นมตฺถุ โพธิยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ

นโม วิมุตฺตานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

นโม วิมุตฺติยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา โมโร วาสมกปฺปยีติ ฯ
นกยูงนั้นเจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงสำเร็จการพักอยู่อาศัยแล.



บทสวดมนต์โมรปริตต์ (ภาษาไทย)


อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนาฯ
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติฯ




ตำนานพระปริตร : โมรปริตร


...ครั้งเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาค ทรงประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงภิกษุผู้ตกอยู่ในอารมณ์กระสันรูปหนึ่ง จึงทรงตรัสพระธรรมเทศนา พระปริตรนี้ให้แก่ภิกษุนั้นฟัง มีความว่า

อดีตกาลเนิ่นนานมา มีพระราชาทรงพระนามว่าพรหมทัตต์ ครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เจ้า ได้บังเกิดในครรภ์นางนกยูง อันอาศัยอยู่ในป่าชายแดน กรุงพาราณสี เมื่อพระโพธิสัตว์ ออกจากไข่แล้วมีผิวพรรณและสีขนเป็นเงางาม เป็นสีทอง พร้อมประกอบด้วยลักษณะอันเลิศกว่านกทั้งปวง เมื่อเติบใหญ่ เจริญวัย ก็ได้เป็นเจ้าแห่งนกยูงทั้งปวง

วันหนึ่งพญานกยูงทองนั้นได้ไปดื่มในสระแห่งหนึ่ง มองเห็นเงาของตนในน้ำ จึงได้รู้ว่าตนนี้มีรูปงามยิ่งกว่านกยูงทั้งหลาย จึงคิดว่า ถ้าเราขืนอยู่รวมกับหมู่นกยูงทั้งหลายอาจจะนำพาภัยมาถึงหมู่คณะแก่ตัวเอง เห็นทีเราจะต้องหลีกออกเสียจากหมู่ ไปหาที่อยู่ใหม่ คงจะต้องไปให้ไกลจนถึง ป่าหิมพานต์ เราจึงจะพ้นภัย

พญายูงทองนั้นคิดเช่นนี้ แล้ว จึงออกบินไปด้วยกำลัง ไม่ช้านักก็ถึงป่าหิมพานต์ นั้น เสาะแสวงหาได้ถ้ำแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงชัน ณ ป่าหิมพานต์นั้น เป็นที่อยู่อาศัย เป็นชัยภูมิที่เหมาะสม และปลอดภัยจากสัตว์ร้ายทั้งหลาย

ครั้นรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์จึงได้ออกจากคูหา บินไปจับบนยอดเขา หันหน้าไปสู่ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) แล้วเพ่งมองดวงสุริยะ เมื่อยามเช้า พร้อมกับสาธยายพระปริตร ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า

อุเทตยัญ จักขุมาเอกะราชา เป็นต้น เพื่อป้องกันรักษาตนในเวลากลางวัน แล้วจึงเที่ยวออกไปแสวงหาอาหาร

ครั้นถึงเวลาเย็น เมื่อจะบินกลับเข้าที่อยู่ พญานกยูงทอง ก็ไม่ลืมที่จะบินขึ้นไปจับอยู่บนยอดเขา หันหน้าสู่ทิศตะวันตก แหงนมอง ดวงอาทิตย์ที่กำลังอัสดงลับขอบฟ้าไป แล้วสาธยายมนต์พระปริตรขึ้นว่า
อะเปตะยัญจักขุมาเอกะราชา เป็นต้น เพื่อที่จะป้องกันภัย รักษาตนในเวลาตลอดราตรี แล้วจึงบินกลับเขาไป อาศัยอยู่ในถ้ำจนตลอดรุ่ง

เช้าตรู่ของวันใหม่ พญายูงทอง ก็ทำดังนี้ ทุกวันมิได้ขาด พร้อมได้สถิตสถาพรตั้งมั่นอยู่ในความสุขสำราญ ตลอดมา โดยมิมีทุกข์ภัยใด ๆ มากล้ำกรายได้เลย

กาลต่อมามีพรานป่าผู้หนึ่ง เดินทางหลงป่ามาจนได้พบเห็น พญายูงทองที่เกาะอยู่บนยอดขุนเขานั้น แต่ก็มิได้ทำประการใด เพราะมัวแต่พะวง กับการหาทางออกจากป่า จนพรานผู้นั้นหาทางกลับมาถึงบ้านพักของตน ก็มิได้บอกเรื่องที่ได้พบเห็น

พญานกยูงทองนั้นแก่ใคร จวบจนเวลาที่นายพรานผู้นั้นแก่ใกล้ตาย จึงได้บอกเรื่องพญายูงทองให้แก่บุตรของตนได้ทราบ แล้วสั่งว่าควรจะนำข่าวนี้ไปแจ้งแก่พระราชาให้ทรงทราบ สั่งแล้วก็สิ้นลมตาย

ต่อมาภายหลัง พระมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ทรงพระสุบินนิมิตรไปว่า ขณะที่พระนางทรงประทับอยู่ภายในพระราชอุทยาน ที่ประทับอยู่ ณ ริมสระปทุมชาติ ได้มีนกยูงสีทอง บินมาจากทิศอุดร แล้วร่อนลงจับอยู่ ณ ขอนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง แล้วนกยูงทองนั้นก็ได้ปราศรัย แสดงธรรมให้แก่พระนางฟัง

กาลต่อมา พระเทวีทรงฝันต่อไปว่า เมื่อพญายูงทองนั้น แสดงธรรมจบแล้ว นกยูงทองนั้นก็จะบินกลับ ในฝันพระนางได้ตะโกนร้องบอกแก่บริวารว่า ช่วยกันจับนกยูงที ช่วยกันจับนกยูงที พระนางตะโกนจนกระทั้งตื่นบรรทม นับแต่นั้นมา พระเทวีก็ให้อาลัยปรารถนาจักได้นกยูงทองตัวนั้นมา จึงออกอุบายแสร้งทำเป็นทรงพระประชวร ด้วยอาการแพ้พระครรภ์ แล้วทูลขอพระสวามีว่า การแพ้ท้องครั้งนี้จักหายได้ ก็ด้วยได้มีโอกาสเห็นพญายูงทอง และสดับธรรมที่พญานกยูงทองแสดง

พระราชาพรหมทัตต์ จึงทรงมีรับสั่งให้เกณฑ์เหล่าพรานไพรทั้งหลาย ที่อาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี และรอบอาณาเขตพระนคร เมื่อบรรดาพรานไพร มาประชุมพร้อมกันแล้ว พระราชาจึงทรงตรัสถามว่า มีใครรู้จักนกยูงสีทองบ้าง

ขณะนั้นพรานหนุ่ม ผู้ซึ่งเคยได้รับคำบอกเล่าจากบิดาว่า ได้เคยเห็นนกยูงทอง จึงลุกขึ้นกราบบังคมทูลเนื้อความนั้นแก่พระราชา พร้อมทั้ง กราบทูลแจ้งที่อยู่ของพญานกยูงทองแก่พระราชาด้วย

พระ ราชาพรหมทัตต์ จึงทรงมีพระบัญชาว่า ดีหล่ะในเมื่อเจ้าพอจะรู้ถึงถิ่นที่อยู่ ของพญายูงทอง เราก็จะตั้งให้เจ้ามีหน้าที่เป็นพรานหลวง ไปจับนกยูงทองตัวนั้น มาให้เราและพระมเหสี

พรานหนุ่มก็รับพระบัญชา จากพระราชา แล้วออกเดินทางไปสู่ป่าหิมพานต์ เพื่อที่จะจับยูงทองตัวนั้นมาถวายพระราชาให้จงได้ จวบจนวันเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี พรานหนุ่มซึ่งบัดนี้แก่ชราลงแล้ว ก็ยังมิสามารถจับพญานกยูงทองนั้นได้ ครั้นจะกลับไปยังบ้านเมืองก็เกรงจะต้องอาญา จึงทนอยู่ในป่าหิมพานต์จนกระทั่งตาย

ส่วนพระเทวี เมื่อเฝ้ารอพญายูงทอง ที่ส่งนายพรานไปจับ ก็ยังไม่เห็นมาจนกระทั่งตรอมพระทัยตายในที่สุด พระราชาพรหมทัตต์ ทรงเสียดายอาลัยรัก พระมเหสีเป็นที่ยิ่งนัก จึงทรงดำริว่า พระมเหสีของเราต้องมาตายโดยยังมิถึงวัยอันควร เหตุน่าจะมาจากพญานกยูงทองตัวนั้น เป็นแน่ บัดนี้เราก็แก่ชราลงมากแล้ว คงจะไม่มีโอกาสเห็นนายพรานคนใดจับนกยูงทอง ตัวนั้นได้เป็นแน่ ดีหละถ้าเช่นนั้นเราจะผูกเวรแก่นกยูงตัวนี้ ทรงดำริดังนั้นแล้ว พระราชาพรหมทัตต์ มีรับสั่งให้นายช่างทอง สลักข้อความว่า หากผู้ใด ใครได้กินเนื้อของพญานกยูงทอง ที่อาศัยอยู่ ณ ป่าหิมพานต์ จักมีอายุยืนยาวไม่แก่ ไม่ตาย ลงในแผ่นทอง แล้วเก็บรักษาไว้ในท้องพระคลัง

ต่อมาไม่นานพระราชาพรหมทัตต์ ก็ถึงกาลทิวงคตลง แผ่นทองจารึกนั้น ก็ตกถึงมือของยุวกษัตริย์องค์ต่อมา เมื่อทรงรู้ข้อความในแผ่นทองจารึกนั้นก็หลงเชื่อ มีรับสั่งให้พรานป่า ออกไปตามจับพญานกยูงทองมาถวาย และแล้วพรานไพรนั้น ก็ต้องไปตายเสียในป่าอีก

เหตุการณ์ได้ดำเนินไปเช่นนี้ จนสิ้นเวลาไป ๖๙๓ ปี พระราชาในราชวงศ์นี้ ก็ทิวงคตไป ๖ พระองค์

แม้ว่าจะสิ้นพรานป่าไป ๖ คน พระราชาทิวงคตไป ๖ พระองค์ ก็ยังหามีผู้ใดมีความสามารถจับพญายูงทองโพธิสัตว์ได้ไม่

จวบ จนถึงรัชสมัยพระราชาองค์ที่ ๗ ผู้ครองกรุงพาราณสี ได้คัดสรรจัดหาพรานไพร ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นคนละเอียดรู้จักสังเกต รู้กลอุบาย

นาย พรานคนที่ ๗ เมื่อได้รับพระบัญชา แต่พระราชา ให้ออกไปจับนกยูงทอง ณ ป่าหิมพานต์ ก็จัดเตรียมอุปกรณ์พร้อมบ่วงบาศ เพื่อจะไปดักจับพญายูงทอง

พรานนั้นใช้เวลาในการดักจับพญายูงทองสิ้นเวลาไป ๗ ปี พญายูงทองก็หาได้ติดบ่วงของนายพรานไม่

นายพรานจึงมาใคร่ครวญดูว่า เอ..ทำไมบ่วงของเราจึงไม่รูดติดข้อเท้าของพญายูงทอง แต่ก็หาคำตอบได้ไม่ พรานนั้น ก็มิได้ละความพยายาม เฝ้าสังเกตกิริยา และกิจวัตรประจำวันของพญายูงทอง จึงได้รู้ว่าทุกเช้า และทุกเย็นพญานกยูงทอง จักเจริญมนต์พระปริตร โดยช่วงเช้าบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกมองพระอาทิตย์ ตอนเย็นหันหน้าไปทางทิศตะวัน ตกมองพระอาทิตย์ แล้วสาธยายมนต์

พรานนั้นสังเกตต่อไปว่า ในที่นี้หาได้มีนกยูงตัวอื่นอยู่ไม่ แสดงว่าพญานกยูงนี้ยัง รักษาพรหมจรรย์อยู่ คงด้วยอำนาจของการรักษาพรหมจรรย์ และมนต์พระปริตร ทำให้บ่วงของเราไม่ติดเท้านกยูงทอง

ครั้นนายพรานได้ทราบมูลเหตุดังนั้นแล้ว จึงคิดจะขจัดเครื่องคุ้มครอง ของพญานกยูงทองเสีย นายพรานนั้นจึงเดินทางกลับสู่บ้านของตน แล้วออกไปดัก นกยูงตัวเมียที่มีลักษณะดีในป่าใกล้บ้าน ได้มาหนึ่งตัว แล้วจึงทำการฝึกหัดให้นางนกนั้น รู้จักอาณัติสัญญา เช่น ถ้านายพรานดีดนิ้วมือ นางนกยูงก็จะต้องร้องขึ้น ถ้าปรบมือนางนกยูงก็จะทำการฟ้อนรำขึ้น

เมื่อฝึกสอนนางนกยูง จนชำนิชำนาญดีแล้ว พรานนั้นก็พานางนกยูง เดินทางไปยังที่ที่พญานกยูงทองอาศัยอยู่ แล้วทำการวางบ่วงดักเอาไว้ ก่อนที่พญายูงทองจะเจริญมนต์พระปริตร พรานได้วางนางนกยูงลงใกล้ ๆ กับที่ดักบ่วง แล้วดีดมือขึ้น นางนกยูงก็ส่งเสียงร้องด้วยสำเนียงอันไพเราะจับใจ จนได้ยินไปถึงหูของพญายูงทองโพธิสัตว์

คราที่นั้น กิเลสกามที่ระงับด้วยอำนาจของตบะ และหลบอยู่ในสันดาน ก็ได้ฟุ้งซ่านขึ้นในทันที เสียงนางยูงทองนั้น ทำให้พญายูงทองโพธิสัตว์ มีจิตกระสันฟุ้งซ่านเร่าร้อนไปด้วยไฟราคะ ครอบงำเสียซึ่งตบะ ไม่สามารถมีจิตคิดจะเจริญมนต์พระปริตรสำหรับป้องกันตนได้เลย

พญานกยูงทองโพธิสัตว์ จึงได้ออกจากคูหา แล้วโผผินบินไปสู่ที่ที่นางนกยูงยืนส่งเสียงร้องในทันที ขณะที่มัว แต่สนใจแต่รูปโฉมของนางนกยูง พลันเท้านั้น ก็เหยียบยืนเข้าไปในบ่วงบาศของพรานที่วางดักไว้ บ่วงใด ๆ ที่มิได้เคยร้อยรัด พระมหาโพธิสัตว์ยูงทอง ตลอดเวลา ๗๐๐ ปี บัดนี้พญายูงทองโพธิสัตว์ ได้โดนบ่วงทั้ง สองร้อยรัดสิ้นอิสระเสียแล้ว

บ่วงทั้งสองนั่นก็คือ "บ่วงกาม" และ "บ่วงบาศ"

โอ้หนอ บัดนี้ทุกข์ภัยได้บังเกิดต่อพญานกยูงทองโพธิสัตว์เสียแล้ว เป็นเพราะเผลอสติแท้ ๆ เพราะนางนกยูงตัวนี้เป็นเหตุ จึงทำให้พญายูงทอง มีจิตอันเร่าร้อนไปด้วยกิเลส จนต้องมาติดบ่วงของเรา การที่เรามาทำสัตว์ ผู้มีศีล ให้ลำบากเห็นปานนี้ เป็นการไม่สมควรเลย จำเราจะต้องปล่อยพญานกนี้ไปเสียเถิด แต่ถ้าเราจะเดินเข้าไปปล่อย พญานกยูงทองนั้น ก็จะดิ้นรนจนได้รับความลำบาก เห็นทีเราจะต้องใช้ธนูยิงสายบ่วงนั้นให้ขาด เพื่อพญานกจะได้หลุดจากบ่วง ที่คล้องรัด อยู่ นายพรานคิด

ครั้นนายพรานไพร ผู้มีใจเป็นธรรมคิดดังนั้นแล้ว จึงจัดการนำลูกธนูมาขึ้นพาดสาย แล้วเล็งตรงไปยัง เชือกบ่วงที่ผูกติดกับต้นไม้ เพื่อหมายใจจะให้เชือกขาด

พญานกยูงทองโพธิสัตว์ ครั้นได้แลเห็นนายพรานโก่งคันศร ก็ตกใจกลัว ว่านายพรานจะยิ่งตนตายด้วยลูกศร จึงร้องวิงวอน ขอชีวิตต่อนายพรานว่า ข้อแต่

ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจับเราเพราะต้องการทรัพย์แล้วหละก็ ขออย่าได้ฆ่าเราเลย จงจับเราเป็น ๆ เอาไปถวายพระราชาเถิด พระราชาจะปูนบำเหน็จให้ท่านอย่างงามทีเดียวหละ

พรานไพรเมื่อได้ฟังนกยูงทองร้องบอกและขอชีวิตดังนั้น จึงกล่าวว่า เรามิได้มีความประสงค์จะฆ่าท่านหรอก การที่เราเล็งศรไปยังท่าน ก็เพียงเพื่อจะยิงเชือกบ่วงให้ขาด เพื่อปล่อยท่านให้เป็นอิสระ

พญานกยูงทองโพธิสัตว์ จึงร้องขอบใจต่อนายพราน พร้อมทั้ง แสดงอานิสงฆ์ของการไม่ฆ่าสัตว์ และผลของการฆ่าสัตว์ ว่าจะได้รับโทษทุกข์ทัณฑ กรรมนานา อีกทั้งชี้แจงให้พรานไพรได้รู้ถึงผลของบุคคลผู้มีมิจฉาทิฐิ ว่ามีโทษทำให้ตนและคนอื่นเดือดร้อน ส่วนผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมมีผลที่ให้เกิดสุขทั้งตนและคนอื่น ทั้งยังได้บอกประโยชน์ของการไม่คบคนพาล คบบัณฑิต และที่สุด พญานกยูงทอง ก็ชี้ให้นายพรานได้เห็นทุกข์ภัยของสัตว์นรก ว่าเกิดจากความเมาประมาทขาดสติ

เมื่อสิ้นสุดธรรมโอวาท พรานนั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกโพธิญาณ ส่วนพญายูงทองก็ได้พ้นจากบ่วงทั้งสอง คือ บ่วงกาม และบ่วงบาศ ที่เกิดจากเครื่องดัก จับ ในขณะที่นายพรานตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ทำการประทักษิณ แก่พญานกยูงทองโพธิสัตว์ แล้วก็เหาะขึ้นไปบนอากาศ ไปสถิตอยู่ ณ คูหาบนยอดเขานันทมูลคีรี

วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

 http://i144.photobucket.com/albums/r183/Mirror_album/Buddha/wallpaper.gif?t=1234149909



เสโล ยถา เอกฆโน วาเตน น สมีรติ
เอวํ นินฺทาปสํสาสุ น สมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตา ฯ


ขุนเขาไม่สะเทือนเพราะแรงลมฉันใด
บัณฑิตก็ไม่หวั่นไหวเพราะนินทาหรือสรรเสริญฉันนั้น


Even as a solid rock
Is not shaken by the wind.
So do the wise remain unmoved
By praise or blame.


...................................................................

วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

“ภาพพุทธประวัติ” ภาพที่ ๕ อสิตดาบสมาเยี่ยม เห็นพระกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะก็ถวายบังคม





“ภาพพุทธประวัติ” พร้อมคำบรรยายประกอบภาพ ๓๕ ภาพ

“ภาพพุทธประวัติ” ภาพที่ ๕ อสิตดาบสมาเยี่ยม เห็นพระกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะก็ถวายบังคม


ภาพนี้เป็นตอนภายหลังพระพุทธเจ้าประสูติแล้วใหม่ๆ คือภายหลังพระพุทธบิดาทราบข่าว พระนางสิริมหามายาประสูติพระโอรสระหว่างทางที่สวนลุมพินี แล้วรับสั่งให้เสด็จกลับเข้าเมืองแล้ว

ผู้ที่มุ่นมวยผมเป็นชฎา และมือทั้งสองประนมแค่อกที่เห็นอยู่นั้นคือ “อสิตดาบส” หรือบางแห่งเรียกว่า “กาฬเทวินดาบส” ท่านดาบสผู้นี้บวชเป็นฤาษีอยู่ข้างป่าหิมพานต์ หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่าเขาหิมาลัยนั่นเอง ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและของราชตระกูลนี้ และเป็นผู้ที่คุ้นเคยด้วย

เมื่อท่านทราบข่าวว่า พระเจ้าสุทโธทนะ ประมุขกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงมีพระราชโอรสใหม่ จึงออกจากอาศรมเชิงเขา เข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อถวายพระพรยังราชสำนัก พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่าท่านดาบสมาเยี่ยม ก็ทรงดีพระทัยนักหนา จึงตรัสสั่งให้นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะ แล้วทรงอุ้มพระราชโอรสออกมาเพื่อให้นมัสการท่านดาบส

พอท่านดาบสได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ทำกริยาผิดวิสัยสมณะ ๓ อย่าง คือ ยิ้มหรือแย้ม หรือที่ภาษากวีในหนังสือปฐมสมโพธิเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หัวเราะแล้วร้องไห้” แล้วกราบแทบพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะ

ท่านยิ้มเพราะเห็นพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะต้องด้วยตำรับมหาบุรุษลักษณ์ ท่านเห็นว่าคนที่มีลักษณะอย่างนี้ ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไปไกล แต่ถ้าได้ออกบวชจะได้เป็นพระศาสดาผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ที่ท่านร้องไห้ก็เพราะเชื่อแน่ว่า เจ้าชายราชกุมารนี้จะต้องออกบวช เพราะเหตุที่เชื่ออย่างนี้เลยนึกถึงตัวท่านเองว่า “เรานี่แก่เกินการณ์เสียแล้ว” เลยเสียใจว่ามีบุญน้อย ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และที่กราบไหว้พระบาทราชกุมารที่เพิ่งประสูติใหม่ก็เพราะเหตุเดียวที่กล่าวนี้

ฝ่ายเจ้านายในราชตระกูลได้เห็นและได้ทราบข่าวว่า ท่านดาบสกราบพระบาทราชกุมาร ต่างก็มีพระทัยนับถือพระราชกุมารยิ่งขึ้น จึงทูลถวายโอรสของตนให้เป็นบริวารของเจ้าชายสิทธัตถะ ตระกูลละองค์ๆ ทุกตระกูล


ผู้วาดภาพประกอบ : กฤษณะ สุริยกานต์

ที่มา : ภาพและเนื้อหา จากสมุดภาพ ปฐมสมโพธิกถา วรรณคดีพระพุทธศานาพากไทย คัมภีร์แสดงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส



.....................................................

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

อะไรคือ สังฆคุณ ๙ ?



อะไรคือ สังฆคุณ ๙ ?

คุณของพระสงฆ์ หมายถึง คุณความดีที่พระสงฆ์มีอยู่ประจำตน พระสงฆ์ที่มีคุณความดีได้รับยกย่องมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือพระอริยสงฆ์ พระสงฆ์ผู้บรรลุมรรคและผลขั้นต่าง ๆ สำหรับสมมติสงฆ์ พระสงฆ์โดยสมมติในปัจจุบันนี้หากมีข้อวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสศรัทธา ก็อนุโลมตามคุณของพระอริยสงฆ์ได้

สังฆคุณมี ๙ ประการ ๔ ประการแรกเป็นเหตุและ ๕ ประการหลังเป็นผลดังต่อไปนี้

๑. สุปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีคือ ๑.ปฏิบัติไม่ตามมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นทางสายกลาง ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงเครียดนัก ๒.ปฏิบัติไม่ถอยหลัง ปฏิบัติได้ดีเท่าเดิม หรือก้าวหน้าสูงขึ้นไป ๓.ปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

๒. อุขุปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ
     ๑. ไม่ปฏิบัติลวงโลก คือ ปฏิบัติต่อหน้าคนอย่างหนึ่ง ปฏิบัติลับหลังคนอีกอย่างหนึ่ง 
     ๒. ไม่ปฏิบัติเพื่อโอ้อวด คือปฏิบัติเพื่อให้คนทั่วไปเห็นว่าตนปฏิบัติเคร่งครัดกว่าใคร ๆ
     ๓. ปฏิบัติตรงต่อพระพุทธเจ้า และพระสาวกด้วยกัน ไม่อำพรางความในใจ ไม่มีแง่งอน

๓. ญายปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทางคือ
     ๑.ปฏิบัติมุ่งธรรมเป็นใหญ่
     ๒.ปฏิบัติถือความถูกต้องเป็นสำคัญ
     ๓.ปฏิบัติเพื่อความตรัสรู้

๔. สามีจิปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติสมควรคือ
     ๑. ปฏิบัติน่านับถือ สมควรได้รับความเคารพ
     ๒.ปฏิบัติชอบอย่างยิ่ง
     ๓.ปฏิบัติดีที่สุด

๕. อาหุเนยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่สิ่งของคำนับ คือ ควรได้รับสิ่งของที่เขานำมาถวาย เพราะท่านมีคุณสมบัติ ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ด้วยว่าสิ่งที่เรียกว่าอาหุนะ เป็นของที่ท่านใช้บูชาคุณความดีของคน เมื่อพระสงฆ์ประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นนั้น จึงควรแก่อาหุนะ คือสิ่งของคำนับ

๖.ปาหุเนยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ คือ ผู้ปฏิบัติงามเช่นนี้ เมื่อท่านไปในบ้านเมืองใด ย่อมเป็นผู้สมควรแก่การต้อนรับเหมือนการต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ พระสงฆ์อยู่ในฐานะนั้น

๗.ทักขิเณยโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาควรแก่สิ่งของทำบุญ คือ พระสงฆ์ผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมได้รับประโยชน์ตามที่ปรารถนา แม้การอุทิศกุศลเพื่อผู้ตาย พระสงฆ์ก็จัดเป็นทักขิไณยบุคคล คือ ควรรับทักษิณาทานนั้น ๆ

๘. อัญชลีกรณีโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี คือ พระสงฆ์เป็นผู้มีคุณความดีอยู่ในสันดาน ย่อมอยู่ในฐานะที่ใคร ๆ ควรแสดงความเคารพด้วยการกราบไหว้ เพราะทำให้ผู้ไหว้มีความรู้สึกว่าตนได้ไหว้ผู้ที่มีคุณธรรมสมควรแก่การไหว้ ทั้งเป็นการช่วยให้ผู้ไหว้เจริญด้วยพรทั้ง ๔ ประการ อันได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ด้วย

๙. อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเนื้อนาบุญของโลก คือ พระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ ทักษิณาที่บริจาคแก่พระสงฆ์ย่อมมีอานิสงส์มาก เปรียบเหมือนนามีดินดีและน้ำดำ พืชที่หว่านไปย่อมให้ผลไพบูลย์ จึงเป็นที่บำเพ็ญบุญของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย


พระสงฆ์สาวกที่มาในบทสังฆคุณ ๙ บทนี้ ท่านหมายเอาพระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล ซึ่งท่านเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ในมรรคผลทั้งสิ้น คือ

คู่ที่ ๑ คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล
คู่ที่ ๒ คือ พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล
คู่ที่ ๓ คือ พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล
คู่ที่ ๔ คือ พระอรหันตมรรค พระอรหันตผล






............................................................................


“ภาพพุทธประวัติ” ภาพที่ ๔ พอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว



“ภาพพุทธประวัติ” พร้อมคำบรรยายประกอบภาพ ๓๕ ภาพ

“ภาพพุทธประวัติ” ภาพที่ ๔ พอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว


ภาพนี้เป็นตอนประสูติ คนที่เคยอ่านพุทธประวัติหรือปฐมสมโพธิ และเคยเห็นภาพตามผนังโบสถ์ในวัดมาแล้ว คงพอเข้าใจและดูออกว่าคืออะไร

ทารกที่เห็นนั้นคือ เจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา ซึ่งพอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ก็ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทไปได้ ๗ ก้าว พร้อมกับทรงยกพระหัตถ์ขวา และเปล่งพระวาจา เบื้องใต้พระบาทมีดอกบัวรองรับ พระวาจาที่ทรงเปล่งออกมานั้น กวีท่านแต่งไว้เป็นภาษาบาลี แปลถอดใจความเป็นภาษาไทยได้ว่า “เราจะเป็นคนเก่งที่สุดในโลกคนหนึ่ง ซึ่งจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่มี ชาติที่เกิดนี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่ได้เกิดต่อไปในเบื้องหน้าอีกแล้ว”

กลุ่มสตรีที่อยู่ในท่านั่งบ้าง คุกเข่าบ้าง นั้นคือบรรดานางพระกำนัลที่ตามเสด็จพระนางมายา ส่วนรูปสตรีที่ยืนหันหลังให้ต้นไม้ใหญ่นั้น คือ พระมารดา พระหัตถ์ขวาของท่านเหนี่ยวกิ่งไม้ ต้นไม้ใหญ่นี้คือ ต้นสาละ ที่แต่ก่อนมาเคยแปลกันว่า ไม้รัง หรือเต็งรัง อย่างที่มีอยู่ในบ้านเรา แต่ภายหลังได้เป็นที่รู้กันว่า สาละไม่ใช่ไม้รัง และไม่มีในป่าเมืองไทย เป็นพันธุ์ไม้หนึ่งในตระกูลยาง ซึ่งมีอยู่ในอินเดีย ที่คนอินเดียนิยมใช้ปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่กัน มีมากในเขาหิมาลัย

สถานที่ประสูตินี้ เรียกว่า “ลุมพินี” อยู่นอกเมืองกบิลพัสดุ์ เวลานี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล

แทรกเรื่องอื่นเข้าบ้างเล็กน้อย กล่าวคือ เมืองพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้ามีสองเมือง คือ กบิลพัสดุ์ และเทวทหะ กบิลพัสดุ์เป็นเมืองพ่อของพระพุทธเจ้า นี้ว่าอย่างภาษาสามัญ ส่วนเมืองเทวทหะเป็นเมืองแม่ พระบิดาของพระพุทธเจ้าอยู่ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ส่วนพระมารดาเดิมอยู่ที่เมืองเทวทหะ กษัตริย์และเจ้านายสองเมืองนี้ ต่างเป็นญาติเกี่ยวดองกันโดยทางอภิเษกสมรส

เมื่อ พระนางสิริมหามายา จวนครบกำหนดประสูติ จึงทูลลาราชพระสวามีคือพระเจ้าสุทโธทนะ เพื่อประสูติพระราชโอรสที่เมืองอันเป็นราชตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่ว่า สตรีเวลาจะคลอดลูกต้องไปคลอดที่บ้านพ่อแม่ของตน พระนางสิริมหามายาเสด็จไปถึงระหว่างทางยังไม่ทันถึงเมืองเทวทหะ ทรงประชวรเสียก่อน เลยจึงประสูติที่นั่น วันที่พระพุทธเจ้าประสูตินั้น คือ วันเพ็ญกลางเดือน ๖


ผู้วาดภาพประกอบ : กฤษณะ สุริยกานต์

ที่มา : ภาพและเนื้อหา จากสมุดภาพ ปฐมสมโพธิกถา วรรณคดีพระพุทธศานาพากไทย คัมภีร์แสดงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส



 ..................................................... 


วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

เพลง : ทุ่งนาฟ้าโล่ง Version เก่า (คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง)




...หลายท่านที่เข้ามาอ่านบทความจากอาตมา คงสงสัยว่าทำไมอาตมาจึงขึ้นเรื่องราวอันเกี่ยวกับ...วัดพระธรรมกาย... ทั้ง ๆ ที่อาตมาเป็นนักบวชสตรีที่อยู่ประจำ...วัตรทรงธรรมกัลยาณี... จังหวัดนครปฐม วันนี้ต้องขอขยายความเพื่อให้ทุกท่านที่มาเยี่ยมเยือนได้เข้าใจ

เดิมอาตมาเป็นสมาชิกของวัดพระธรรมกายแบบที่เรียกกันว่า ศรัทธาวาส ประเภทจาคะ หมายถึง บุคคลที่ทำหน้าที่ให้กับวัดและมูลนิธิธรรมกายแบบไม่รับปัจจัยเกื้อหนุนจากวัดพระธรรมกาย ขณะนั้นอาตมาพักอยู่ที่บ้านธรรมฐิติ ซึ่งอยู่ในบิเวณพื้นที่ส่วนหน้าของวัดพระธรรมกาย มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับกองงานวิชาการอาศรมบัณฑิตของระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) เป็นระยะเวลาถึง ๑๕ ปี ก่อนตัดสินใจลาหลวงพ่อมาบวชเป็นสามเณรีและสิกขมานาตามลำดับเพื่อเตรียมการเป็นพระภิกษุณี

อาตมาเข้าวัดพระธรรมกายครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๐ ก่อนที่คุณยายจะมรณภาพ ๒ ปี จึงมีโอกาสได้เห็นคุณยายบ้างเป็นครั้งคราวบางโอกาส สมัยนั้นโยมพี่อารีพรรณ มักจะนำคุณยายนั่งรถเข็นออกมาให้อาหารปลาที่คูน้ำข้างกุฏิคุณยาย(ฝั่งตรงข้ามกับอาศรมอุบาสิกา) ทุกเย็นเสมอ ๆ อาตมามักจะชอบไปนั่งเล่นแล้วก็มองดูปลาในน้ำกับน้อง ๆ อาสาสมัครสำนักศรัทธาภิบาล และส่งเสียงคุยกันอย่างสนุกสนาน และพวกเราก็มักจะโดนโยมพี่อารีพรรณเตือนว่า ...อย่าส่งเสียงดังนะคะรบกวนคุณยาย...

เมื่อคิดถึงวันเก่า ๆ อาตมาก็มีความสุขใจ...พอคิดถึงคุณยายทีไรก็มักจะคิดถึงเพลง ทุ่งนาฟ้าโล่ง ซึ่งขับร้องโดย คุณอังคณา ช้างเศวต ไม่ได้ เพลงนี้เป็นเพลงที่ไพเราะมากเนื่องจากมีเสียงขลุ่ยของอาจารย์ธนิศ ศรีกลิ่นดี บรรเลงคลอเสียงดนตรีอยู่ด้วย บางครั้งถึถึงกับน้ำตาไหลบ้างก็มีเหมือนกัน วันนี้เลยอยากให้ทุกท่านที่เป็นลูกหลานยายได้ฟังกันบ้าง เพื่อจะได้รำลึกถึงปณิธานอันยิ่งใหญ่ของคุณยาย...และกำเนิดวัดพระธรรมกาย...






เพลง : ทุ่งนาฟ้าโล่ง
ขับร้องโดย : อังคณา ช้างเศวต
เนื้อร้อง : ตะวันธรรม


ทุ่งนาฟ้าโล่งลมพัดโบกโบย
พากลิ่นหอมผกาโชย รวยรินระรื่นชื่นใจ
รุ่งอรุณแสงทองอรุโณทัย
สัญญาแห่งฟ้าวันใหม่ ทาบทาลงลิ่วสู่ทิวทุ่งทอง
ช่างงามวาววับระยับจับตา
งดงามสดสวยล้ำค่า ราวเมืองฟ้าดินแดนสวรรค์
ยายหมายมุ่งมองดวงตะวัน
ดวงใจครุ่นคิดทุกวันถึงดวงตะวันแดนดินสีทอ­ง
ไฉน ยายจะได้ไปเยือน เหมือนสัญญาณมาเตือน
จากดวงธรรมตะวันภายใน ดั่งดวงตะวันสว่างกลางฟ้า
จากชีวิตชาวนา เร่งศึกษาวิชชาธรรมกาย
เปลี่ยนแปรทุ่งทอง กลับกลายมาเป็นทุ่งธรรม
หลวงพ่อฯ วัดปากน้ำฯ นำ ตราบตรำกรำศึกปราบปรามเหล่ามาร
ก่อนสิ้นหลวงพ่อฯ ท่านมีบัญชา
ให้ยายนั้นนำ " วิชชาธรรมกาย " ขยายต่อไป
เกิดเป็นศูนย์กลางแห่งธรรมอันยิ่งใหญ่
เรียกว่า " ศูนย์กลางธรรมกาย " แผ่ขยายสู่ชาวโลกา...


....................................................................






คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง เป็นผู้ให้กำเหนิดวัดพระธรรมกาย เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา พ.ศ. 2452 ท่านเป็นลูกคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้องชายหญิงทั้งหมด 9 คน ของพ่อพลอย กับแม่พัน ชาวนาผู้มีฐานะดี ชาวนครไชยศรี นครปฐม


ออกจากบ้าน ประมาณ ปี พ.ศ. 2464 คุณพ่อของคุณยาย เสียชีวิตลง ในขณะที่คุณยายกำลังดูแลในนา เมื่อคุณยายกลับมาถึงบ้าน ทราบข่าวแล้ว จึงเสียใจมาก เนื่องจากยังไม่ได้ขอขมาพ่อก่อนท่านตาย ในขณะนั้นคุณยายอายุได้เพียง 12 ปี

ปี พ.ศ. 2478 เมื่อคุณยายอายุได้ 26 ปี จึงตัดสินใจลาแม่และพี่น้อง เพื่อจะหาหนทางไปพบหลวงปู่วัดปากน้ำพระมงค ลเทพมุนี โดยมอบทรัพย์สมบัติ อันได้แก่ที่ดินที่เป็นส่วนของท่านให้กับพ ระน้องชายซึ่งพิการ และแก้วแหวนเงินทองทั้งหมดให้กับพี่น้อง หลังจากคุณยายมาอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ แล้ว ได้สืบทราบว่า ที่บ้านคุณนายเลี้ยบ สิกาญจนานันท์ เศรษฐีย่านสะพานหัน เป็นอุปัฏฐากสำคัญที่ไปทำบุญที่วัดปากน้ำก ันเป็นประจำ จึงไปสมัครเป็นคนรับใช้ที่บ้านหลังนี้

หลวงพ่อวัดปากน้ำ สามารถสอนให้ไปดูนรก สวรรค์ได้ จึงตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง เพียงเพื่อจะได้มีโอกาสเรียนกรรมฐานกับแม่ ชีจากวัดปากน้ำ (คุณยายอาจารย์มหาอุบาสิกา ทองสุก สำแดงปั้น ) ที่มาสอนที่บ้านนั้น จนในที่สุด คุณยายได้เข้าถึงธรรมกายสามารถไปช่วยพ่อขึ ้นมาจากนรกได้สำเร็จ และได้มาเพื่อ(ปฏิบัติธรรมวิชชาธรรมกายชั้ นสูง) กับหลวงปู่วัดปากน้ำในเวลาต่อมา


ออกปฏิบัติธรรม ปี พ.ศ. 2481 คุณยายขออนุญาตคุณนายเลี้ยบมาปฏิบัติธรรมท ี่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เมื่อได้พบหลวงปู่วัดปากน้ำครั้งแรก หลวงปู่ท่านก็ทักขึ้นว่า "มึงมันมาช้าไป" ที่ท่านทักอย่างนี้ก็เพราะท่านรอคอยมานานแ ล้วว่า ผู้ที่มีพื้นฐานในการปฏิบัติธรรมวิชชาธรรม กายชั้นสูงได้นั้น เมื่อไรจะมาสักที แล้วหลวงปู่วัดปากน้ำก็ส่งคุณยายเข้าห้องป ฏิบัติธรรมเพื่อศึกษาวิชชาธรรมกายชั้นสูง


..................................................


วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความหมายของคำว่า...“สัมมาอะระหัง”...



ความหมายของคำว่า...“สัมมาอะระหัง”...

คำว่า “สัมมาอะระหัง” เป็นภาษาบาลี มีศัพท์ควบคู่กันอยู่ ๒ ศัพท์ “สัมมา” ศัพท์หนึ่ง “อะระหัง” ศัพท์หนึ่ง

“สัมมา” เป็นศัพท์ที่มีความหมายสูง แปลว่า ชอบในพระพุทธคุณ ๙ บท ท่านเอาศัพท์นี้เข้าคู่กับ “สัมพุทโธ” เป็นสัมมาสัมพุทโธเป็นบทแสดงพระคุณของพระพุทธเจ้า แปลว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ นอกจากใช้ในบทพระพุทธคุณแล้ว ยังมีใช้ในองค์อริยมรรค ๘ ด้วย โดยมีคำว่า สัมมา ควบองค์มรรคอยู่ทุกข้อเป็น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น

ส่วนศัพท์ว่า “อะระหัง” เป็นพระพุทธคุณบทต้น แปลว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ เมื่อเข้าคู่กันเป็น สัมมาอะระหัง ก็แปลว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์โดยชอบ คือ ถูกต้อง ไม่ผิด โดยนัยว่าบทบริกรรม “สัมมาอะระหัง” ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ จึงมีความหมายสูง และอยู่ในขอบข่ายของพุทธานุสสติโดยแท้

บท “สัมมาอะระหัง” นี้ โบราณาจารย์สมัยก่อนท่านแยกพรรณนาพระพุทธคุณทีละอักษร ในบทภาวนานี้ มี ๕ อักษร คือ สัม, มา, อะ, ระ, หัง แต่ละอักขระหรือแต่ละอักษรไปนี้ ท่านโบราณาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ดังต่อไปนี้

(สัม)
สงฺขตาสงฺขเต ธมฺเม สมฺมา เทเสติ ปาณินํ
สํสารสฺส วิฆาเฏติ สมฺพุทฺธํปิ นมามิหํ ฯ

๑. พระพุทธองค์ทรงแสดงสังขตธรรมและอสังขตธรรม โดยชอบแก่สัตว์ทั้งหลาย
๒. พระพุทธองค์ ทรงทำลายการเวียนเกิดเวียนตายได้
๓. พระพุทธองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ท่านบอกอุปเท่ห์ คือวิธีใช้ไว้ว่า ให้ภาวนาก่อนจะเข้าสู่สงคราม หาผู้ทำร้ายมิได้แล

(มา)
มาตาว มานปาลิเต มานสตฺเต ปมทฺทิ โย
มานิโต เทวสงฺเฆหิ มานฆาตํ นมามิหํ ฯ

๑. พระพุทธองค์ทรงย่ำยีสัตว์ผู้มีมานะ (ความถือตัว) ที่มานะ (ความถือตัว) เลี้ยงไว้ดุจมารดา
๒. พระพุทธองค์ อันหมู่ทวยเทพยอมรับนับถือ
๓. พระพุทธองค์ทรงทำลายมานะได้
ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ ท่านบอกอุปเท่ห์ไว้ว่า ภาวนาเพื่อทำคนแข็งให้อ่อน หมายความว่า ถ้าบังเอิญท่านต้องเผชิญกับคนใจแข็ง ให้มีอันแข็งข้อ แข็งกระด้างเอากับท่านอย่างนี้แล้ว โบราณาจารย์ท่านแนะนำให้ใช้คาถาบทนี้ แก้ไขเหตุการณ์

(อะ)
อนุสฺสาหสพฺพสตฺตานํ อนุสฺสาเหติ โย ชิโน
อนนฺตคุณสมฺปนฺโน อนฺตคามี นมามิหํ ฯ

๑. พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนคนไม่มีอุตสาหะ ให้มีความอุตสาหะ
๒. พระพุทธองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมไม่สิ้นสุด
๓. พระพุทธองค์ทรงถึงที่สุดแห่งทุกข์
ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ ท่านบอกอุปเท่ห์ไว้ว่า ภาวนาป้องกันเสือและจระเข้ หมายความว่า ถ้าท่านต้องเข้าป่าที่มีสัตว์ร้ายชุกชุม หรือต้องลงน้ำในย่านที่มีสัตว์น้ำอันตราย ถ้าทำใจให้เป็นสมาธิ ภาวนาคาถาบทนี้ จะป้องกันสัตว์ร้ายได้

(ระ)
รโต นิพฺพานสมฺปตฺโต รโต โส สตฺตโมจโน
รมาเปติธ สตฺเต โย รมทาตํ นมามิหํ ฯ

๑. พระพุทธองค์ทรงยินดีในธรรม ได้ทรงบรรลุถึงพระนิพพาน
๒. พระพุทธองค์ทรงปลดเปลื้องสัตว์ให้พ้นทุกข์
๓. พระพุทธองค์ทรงยังสัตว์ให้ยินดีในพระนิพพาน
๔. พระพุทธองค์เป็นผู้ทรงประทานให้ซึ่งพระนิพพานอันเป็นที่ยินดี
ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ ถ้าใครยึดมั่นท่องบ่นภาวนาเป็นนิจ สามารถป้องกันการกระทำคุณผีและคุณคนทั้งปวงได้

(หัง)
หญฺญติ ปาปเก ธมฺเม หํสาเปติ ปทํ ชนํ
หํสมานํ มหาวีรํ หนฺตปาปํ นมามิหํ ฯ

๑. พระพุทธองค์ทรงฆ่าบาปธรรม
๒. พระพุทธองค์ยังชนให้ยินดี ซึ่งทางฆ่าบาปนั้น
๓. พระพุทธองค์ทรงร่างเริง
๔. พระพุทธองค์ทรงกล้าหาญยิ่งใหญ่
๕. พระพุทธองค์ทรงฆ่าบาปได้แล้ว
ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ โบราณาจารย์ท่านแนะนำว่า ให้หมั่นเพียรภาวนาเมื่อจะเข้าสู่ณรงค์สงคราม ทำให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้

พระคาถา แสดงความหมายว่า แต่ละอักขระของบท สัมมาอะระหัง ที่นำมาลงไว้พร้อมทั้งอุปเท่ห์ คือวิธีใช้นี้สำหรับผู้ที่นับถือและเชื่อมั่นภาวนาให้จริงจัง จนจิตเป็นสมาธิมั่นคง ย่อมได้ผลจริงดังใจหมาย


.......................................................


 

“ภาพพุทธประวัติ” ภาพที่ ๓ พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิต



“ภาพพุทธประวัติ” พร้อมคำบรรยายประกอบภาพ ๓๕ ภาพ 

“ภาพพุทธประวัติ” ภาพที่ ๓ พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิต


ตอนที่พระโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งต่อมาคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้า กำลังเสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อเสด็จเข้าสู่พระครรภ์พระมารดา วันที่เสด็จลงมาบังเกิดนั้น ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นเวลาที่พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา กับพระนางสิริมหามายา พระราชมารดา ได้อภิเษกสมรสไม่นาน

คืนวันเดียวกันนั้น พระนางสิริมหามายา กำลังบรรทมหลับสนิทในพระแท่นที่บรรทมแล้ว ทรงสุบินนิมิตว่า พระนางไปอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มีช้างเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูง เข้ามาหาพระนาง ปฐมสมโพธิพรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง...ชูงวงอันจับ บุณฑริกปทุมชาติสีขาวเพิ่งบานใหม่ มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตรลบแล้วร้องโกญจนาทเข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมถ้วนสามรอบ แล้วเหมือนดุจเข้าไปในอุทรประเทศ ฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี...”

ภายหลังโหราจารย์ประจำราชสำนักทำนายว่า เป็นสุบินนิมิตที่ดี จะมีพระราชโอรสผู้ประเสริฐอุบัติบังเกิด และเมื่อพระราชมารดาทรงครรภ์แล้ว ปฐมสมโพธิได้พรรณนาตอนที่พระโพธิสัตว์เสด็จอยู่ในพระครรภ์พระราชมารดาว่า

“...เหมือนดุจด้ายเหลือง อันร้อยเข้าไปในแก้วมณีอันผ่องใส เมื่อปรารถนาจะทอดพระเนตรในขณะใด ก็เห็นพระโอรสนั่งเป็นบัลลังก์สมาธิ (นั่งขัดสมาธิ) ผันพระพักตร์มาข้างพื้นพระอุทรแห่งพระราชมารดา ดุจสุวรรณปฏิมาอันสถิตอยู่บนฝักอ่อนในห้องแห่งกลีบปทุมชาติ แต่พระโพธิสัตว์มิได้เห็นองค์ชนนี...”

วันที่พระโพธสัตว์เจ้าเสด็จลงสู่พระครรภ์นั้น กวีผู้แต่งเรื่องเฉลิมพระเกียรติได้พรรณนาว่า มีเหตุมหัศจรรย์เกิดขึ้นเหมือนกับตอนประสูติ ตรัสรู้ และตรัสปฐมเทศนา จะต่างกันบ้างก็แต่ในรายละเอียดเท่านั้น เช่นว่า กลองทิพย์บันลือลั่นทั่วท้องเวหา คนตาบอดกลับมองเห็น คนหูหนวกกลับได้ยิน

ตอนนั้นถ้าจะถ่ายทอดพระพุทธเจ้าออกจากวรรณคดี มาเป็นพระพุทธเจ้าในพุทธประวัติก็ว่า กลองทิพย์บันลือลั่นนั้นคือ “นิมิต” หมายถึง พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าที่จะแผ่ไปทั่วโลก คนตาบอด หูหนวก คือ คนที่มีกิเลส ได้สดับรสธรรมแล้ว จะหายตาบอด หูหนวก หรือมีปัญญารู้แจ้ง มองเห็นทางพ้นทุกข์นั้นเอง

.....................................................


วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

ธรรมคุณ ๖ มีอะไรบ้าง ?




ธรรมคุณ ๖ มีอะไรบ้าง ?

พระธรรม หรือ ธรรมะ มาจาก Dhamma (บาลี: धम्म) หรือ Dharma (สันสกฤต: धर्म) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า "ธรรม" ที่หมายถึง ยก, พยุง, สนับสนุน, เกื้อหนุน ซึ่ง ธรรมะ นั้นหมายถึง สิ่งที่จะพยุง เกื้อหนุน ผู้ปฏิบัติธรรม และ ปกป้องผู้ปฏิบัติธรรม จากการตกอยู่ในความทุกข์ ลำเค็ญ เดือดร้อน

พระธรรม หมายถึง ธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำออกเผยแผ่ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับความจริงตามธรรมชาติของทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นแต่เริ่มสืบทอดกันด้วยวิธีท่องจำแบบปากต่อปาก เรียกว่า "มุขปาฐะ" สมัยต่อมาจึงได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คัมภีร์ที่บันทึกพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เรียกว่า พระไตรปิฎก และยังมีคัมภีร์อื่นๆ ที่แต่งภายหลังเพื่อขยายความอีก ได้แก่ อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตามลำดับ

ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมพระพุทธองค์ แต่ทรงเป็นผู้ค้นพบแล้วนำมาประกาศ อาจพอกล่าวได้ว่าการเรียนรู้พระธรรม ก็คือการเรียนรู้ธรรมดาโลก และเรียนรู้สิ่งที่เป็นปกติที่มีบ่อเกิดที่มาว่ามาอย่างไร เป็นไปได้อย่างไร

คุณของพระธรรมคุณมี ๖ ประการ ดังที่นักปราชญ์ได้ร้อยกรองเป็นบทสวดสำหรับน้อมนำระลึกไว้ในใจ ดังนี้

๑. สวากขาโต ภควตา ธัมโม หมายถึง ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วท่ามกลาง อันได้แก่ สมาธิและงามในที่สุด อันได้แก่ ปัญญา พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์หรือหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

๒. สันทิฏฐิโก หมายถึง ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดบรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามคำบอกเล่าของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ไม่บรรลุ ผู้อื่นจะบอกก็เห็นไม่ได้

๓. อกาลิโก หมายถึง ไม่ประกอบด้วยการ ผู้ปฏิบัติไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา พร้อมเมื่อใดบรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใดเห็นผลได้ทันที นั่นคือ ให้ผลในลำดับแห่งบรรลุไม่เหมือนผลไม้อันให้ผลตามฤดูกาล

๔. เอหิปัสสิโก หมายถึง ควรเรียกให้มาดู พระธรรมเป็นคุณอัศจรรย์ดุจของประหลาดที่ควรเชิญชวนให้มาชมและพิสูจน์หรือท้าทายต่อการตรวจสอบ เพราะเป็นของจริงและดีจริง

๕. โอปนยิโก หมายถึง ควรน้อมเข้ามา ผู้ปฏิบัติควรน้อมเข้ามาไว้ในใจของตนหรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดขึ้นในใจ

๖. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ หมายถึง อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ผลอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น ทุกคนที่น้อมนำมาปฏิบัติ จะรู้ซึ้งถึงผลแห่งพระธรรมนั้นด้วยตนเอง ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ประจักษ์ในใจของตนเอง

คุณของพระธรรมข้อที่ ๑ มีความหมายกว้าง รวมทั้งปริยัติธรรม คือ คำสั่งสอนด้วย ส่วนคุณของพระธรรมข้อที่ ๒ ถึงข้อที่ ๖ มุ่งให้เป็นคุณของโลกุตตรธรรม ดังนั้น เมื่อทราบความหมายของธรรมคุณ ๖ ทั้งหมดแล้ว การสวดมนต์เพื่อสรรเสริญพระธรรมคุณในครั้งต่อๆ ไป คงจะทรงความหมายอย่างเปี่ยมล้น

อนึ่ง การน้อมนำคุณของพระธรรม เพื่อเจริญธัมมานุสตินั้น มีอานิสงส์มาก ดังที่ ปัญญา ใช้บางยาง ได้บอกไว้ในหนังสือธรรมาธิบาย เล่ม ๑ ว่า

- ย่อมเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา
- ตระหนักและอ่อนน้อมในพระธรรม
- ย่อมได้ความไพบูลย์แห่งคุณ มีศรัทธา เป็นต้น
- เป็นผู้มากด้วยปีติปราโมทย์
- ทนต่อความกลัว ความตกใจ อดกลั้นต่อทุกข์
- รู้สึกว่าได้อยู่กับพระธรรม
- เป็นบาทฐานให้บรรลุธรรมอันยิ่ง
- เมื่อประสบกับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิด หิริโอตตัปปะ ย่อมปรากฏแก่เธอ
- เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่ง เธอย่อมมีสุคติต่อไป


.....................................................................


“ภาพพุทธประวัติ” ภาพที่ ๒ เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าชุมนุมกันอัญเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ให้จุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า



“ภาพพุทธประวัติ” ภาพที่ ๒ เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าชุมนุมกันอัญเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ให้จุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

“ภาพพุทธประวัติ” พร้อมคำบรรยายประกอบภาพ ๓๕ ภาพ


เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์สวรรคตแล้ว เสด็จไปอุบัติเป็น สันดุสิตเทพบุตร ในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อก่อนพุทธกาลเล็กน้อย เทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาประชุมปรึกษากันว่า ใครจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต่างก็เล็งว่าพระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันไปทูลเชิญให้จุติลงมาโปรดสัตว์โลก เพื่อให้สมกับพระปณิธานที่ตั้งใจไว้ว่า ทรงบำเพ็ญบารมีมาในชาติใดๆ ก็มิได้ทรงมุ่งหวังสมบัติอันใด นอกจากความเป็นพระพุทธเจ้า

ก่อนที่พระโพธิสัตว์อันสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต จะได้ทรงตรัสรู้บรรลุธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อโปรดชาวโลกนั้น พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ อันได้แก่

(๑) พระเตมีย์ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ ความอดทนสูงสุด
(๒) พระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี คือ ความพากเพียรสูงสุด
(๓) พระสุวรรณสาม ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี คือ ความเมตตาสูงสุด
(๔) พระเนมิราช ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือ ความมีจิตที่แน่วแน่สมบูรณ์
(๕) พระมโหสถ ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี คือ ความมีปัญญาสูงสุด
(๖) พระภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมี คือ ความมีศีลที่สมบูรณ์สูงสุด
(๗) พระจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมี คือ ความอดกลั้นสูงสุด
(๘) พระนารทพรหม ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ การมีอุเบกขาสูงสุด
(๙) พระวิธูรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญสัจจบารมี คือ ความมีสัจจะสูงสุด
(๑๐) พระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญทานบารมี คือ การรู้จักให้ทานสูงสุด

บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความอัศจรรย์เหล่านั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ครั้งใด เราชื่อว่าท้าวสันดุสิตอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต ครั้งนั้น หมื่นโลกธาตุก็พากันประคองอัญชลีอ้อนวอนเราว่า

ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์เมื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ มิใช่ปรารถนาสมบัติท้าวสักกะ มิใช่ปรารถนาสมบัติมาร มิใช่ปรารถนาสมบัติพรหม มิใช่ปรารถนาสมบัติจักรพรรดิ แต่พระองค์ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพื่อช่วยขนสัตว์ข้ามโอฆสงสาร ด้วยเหตุนั้นท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า

(เทวดาในหมื่นโลกธาตุทูลวอนว่า) ข้าแต่พระมหาวีระ นี้เป็นกาลสมควรสำหรับพระองค์ ขอพระองค์โปรดอุบัติในพระครรภ์พระมารดา ขอพระองค์เพื่อจะทรงช่วยมนุษยโลกพร้อมเทวโลกให้ข้ามโอฆสงสาร โปรดจงตรัสรู้อมตบทเถิด

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ แม้ถูกเทวดาทั้งหลายทูลวอนขอ ก็มิได้ประทานปฏิญญาคำรับรองแก่เทวดาทั้งหลาย แต่ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ คือ กำหนดกาล ทวีป ประเทศ ตระกูล พระชนมายุของพระชนนี

บรรดามหาวิโลกนะ ๕ นั้น ทรงตรวจดูกาลก่อนว่า เป็นกาลสมควรหรือยังไม่เป็นกาลสมควร ในกาลนั้น อายุกาล (ของสัตว์) สูงกว่าแสนปีขึ้นไป ยังไม่ชื่อว่ากาล เพราะเหตุไร เพราะทุกข์มีชาติชรามรณะเป็นต้นไม่ปรากฏ ก็ธรรมดา พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ชื่อว่าพ้นจากไตรลักษณ์ ไม่มีเลย เมื่อพระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสว่า อนิจจัง ทุกขัง ดังนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสเรื่องอะไร แต่นั้นการตรัสรู้ก็ไม่มี เมื่อการตรัสรู้นั้นไม่มี คำสั่งสอนก็ไม่เป็นนิยยานิกกะนำสัตว์ออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้น กาลนั้นจึงไม่เป็นกาลสมควร

แม้อายุกาล (ของสัตว์) ต่ำกว่าร้อยปี ก็ยังไม่เป็นกาลสมควร เพราะเหตุไร เพราะกาลนั้นสัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนาแน่น และโอวาทที่ประทานแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสหนาแน่น ไม่อยู่ในฐานะควรโอวาท เพราะฉะนั้น กาลแม้นั้นก็ไม่เป็นกาลสมควร อายุกาลอย่างต่ำตั้งแต่แสนปีลงมา อย่างสูงตั้งแต่ร้อยปีขึ้นไป ชื่อว่ากาลสมควร บัดนี้ มนุษย์ทั้งหลายมีอายุร้อยปี เพราะเหตุนั้น ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นว่าเป็นกาลที่ควรบังเกิด

ต่อนั้น ทรงตรวจดูทวีป ทรงเห็นทวีปว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดในชมพูทวีปเท่านั้น ธรรมดาชมพูทวีป เป็นทวีปใหญ่มีเนื้อที่ประมาณหมื่นโยชน์

เมื่อทรงตรวจดูประเทศว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายบังเกิดในประเทศไหนหนอ ก็ทรงเห็นมัชฌิมประเทศ

ต่อจากนั้นก็ทรงตรวจดูตระกูลว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายบังเกิดในตระกูลที่โลกสมมติ บัดนี้ ตระกูลกษัตริย์เป็นตระกูลที่โลกสมมติ จำเราจักบังเกิดในตระกูลกษัตริย์นั้น พระราชาพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ จักเป็นพระราชชนกของเรา

แต่นั้นก็ตรวจดูพระชนนีว่า สตรีนักเลงสุราเหลวไหลจะเป็นพุทธมารดาไม่ได้ จะต้องเป็นสตรีมีศีล ๕ ไม่ขาด ดังนั้น พระราชเทวีพระนามว่า มหามายานี้ก็เป็นเช่นนี้ พระนางสิริมหามายา จักเป็นพระราชชนนีของเรา เมื่อทรงนึกว่าพระนางเจ้าจะทรงมีพระชนมายุได้เท่าไร ก็ทรงเห็นว่าได้ต่อไปอีก ๗ วัน หลังครบทศมาสแล้ว

ครั้งทรงตรวจมหาวิโลกนะ ๕ ประการนี้แล้ว ก็ประทานปฏิญญาแก่เทวดาทั้งหลายว่า เป็นกาลสมควรที่เราจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงดำรงอยู่ในภพดุสิตนั้นตลอดชนมายุแล้วจุติจากภพดุสิตนั้น ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางเจ้ามายาเทวีในราชสกุลศากยะ


.....................................................

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

พุทธคุณ ๙ คืออะไร ?




พุทธคุณ ๙ คืออะไร ?

คำว่า “พุทธคุณ” เป็นคำที่ชาวพุทธคุ้นหูกันเป็นอย่างดี แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่เข้าใจคำนี้ได้อย่างถูกต้องนัก จึงขอนำมาอธิบายขยายความไว้ในที่นี้ โดยในพจนานุกรม พุทธศาสน์ ของรองศาสตราจารย์ดนัย ไชยโยธา ได้ให้ความหมายไว้ว่า

พุทธคุณ ๙ คือ คุณความดีของพระพุทธเจ้า ๙ ประการ ดังที่นักปราชญ์ได้ร้อยกรอง เพื่อให้เป็นบทสวดสรรเสริญพระคุณอันประเสริฐไว้ดังนี้

๑. อรหํ เป็นพระอรหันต์ มีคำแปลและความหมายอย่างน้อย ๔ ประการ ดังนี้

๑.๑ เป็นผู้ควร คือ ผู้ทรงสั่งสอนสิ่งใดก็ทรงทำสิ่งนั้นได้ด้วย เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
๑.๒ เป็นผู้ไกล คือ ผู้ทรงไกลจากกิเลสและบาปกรรม เพราะทรงละได้เด็ดขาดแล้วทั้งโลภ โกรธ และหลง
๑.๓ เป็นผู้หักซี่กำแพงล้อสังสารวัฏ คือ ผู้ทรงตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏได้แล้ว
๑.๔ เป็นผู้ไม่มีข้อลี้ลับ คือ ผู้ทรงไม่มีบาปธรรมทั้งที่ลับและที่แจ้ง เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น และเป็นผู้ควรได้รับความเคารพของผู้อื่น

๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง คือ ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นการค้นพบด้วยพระองค์เอง ไม่มีครู อาจารย์เป็นผู้สอน

๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือ มีวิชชาความรู้ตั้งแต่ความรู้ระดับพื้นฐาน จนกระทั่งความรู้ระดับสูงสุด และมีจรณะความประพฤติดีประพฤติได้ตามที่ทรงรู้ เช่น ความสำรวมในศีล เป็นต้น

๔. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดี คำว่า “ไปดี” มีความหมายหลายนัยคือ

๑.เสด็จดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นทางเดินที่ดี
๒.เสด็จไปสู่พระนิพพาน อันเป็นสภาวะที่ดียิ่ง
๓.เสด็จไปดีแล้ว เพราะทรงละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง
๔.เสด็จไปปลอดภัยดี เพราะเสด็จไปบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลก

๕. โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลก คือทรงรอบรู้โลกทางกายภาพ เช่นโลกมนุษย์ สัตว์โลก สังขารโลก โอกาสโลก และทรงรู้โลกภายในคือ ทุกข์และการดับทุกข์

๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีผู้ทรงฝึกคนได้อย่างยอดเยี่ยม คือ พระองค์ทรงรู้นิสัย (ความเคยชิน) อุปนิสัย(มีแวว) อธิมุตติ(ความถนัด) อินทรีย์(ความพร้อม) ของบุคคลระดับต่าง ๆ และทรงฝึกสอนด้วยเทคนิควิธีการที่เหมาะแก่ความเคยชิน แววถนัด และความพร้อมของเขาให้บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก

๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คือ พระองค์ทรงประกอบด้วยคุณสมบัติที่ควรเป็นครูของบุคคลในทุกระดับชั้น เพราะพระองค์ทรงรอบรู้และทรงสอนคนได้ทุกระดับ ทรงสอนด้วยความเมตตา มิใช่เพื่อลาภสักการะและคำสรรเสริญ แต่ทรงมุ่งความถูกต้องและประโยชน์สุขของผู้ฟังเป็นใหญ่ ทรงสอนให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของผู้ฟัง และทรงทำได้ตามที่ทรงสอนนั้นด้วย

๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือ พระองค์ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ยึดถือกันมาผิด ๆ ด้วย ทรงรู้จักฐานะ คือ เหตุที่ควรเป็น เปรียบได้กับคนตื่นจากหลับแล้วทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย อนึ่งพระองค์ทรงตื่นแล้วเป็นอิสระจากอำนาจของโลภ โกรธ หลง แล้ว เมื่อทรงตื่นแล้วก็ทรงแจ่มใสเบิกบาน มีพระทัยบริสุทธิ์สะอาด

๙. ภควา เป็นผู้มีโชค ผู้ทรงแจกแบ่งธรรม คือพระองค์ทรงเพียบพร้อมได้ด้วยคุณธรรมทั้งหลาย อันเป็นผลสัมฤทธิ์แห่งพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา นับเป็นผู้มีโชคดีกว่าคนทั้งปวง เพราะพระองค์ทรงทำการใดก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ ส่วน “ภควา” แปลว่า “ทรงแจกแบ่งธรรม” หมายถึง มีพระปัญญาล้ำเลิศ จนสามารถจำแนกธรรมที่ลึกซึ้งให้เป็นที่เข้าใจง่าย และมีพระกรุณาธิคุณจำแนกจ่ายคำสั่งสอนแก่เวไนยสัตว์ให้รู้ตาม

พระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการนี้ สรุปลงเป็น ๓ ประการคือ

๑. พระวิสุทธิคุณ คือ ความบริสุทธิ์ อันได้แก่ พระคุณข้อที่ ๑,๓ และ ๙
๒. พระปัญญาคุณ คือ ปัญญา อันได้แก่ พระคุณข้อที่ ๒,๕ และ๘
๓. พระมหากรุณาธิคุณ คือ พระมหากรุณา อันได้แก่ พระคุณข้อที่ ๔,๖ และ ๗



.......................................................

“ภาพพุทธประวัติ” ภาพที่ ๑ พระโคตมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน



“ภาพพุทธประวัติ” พร้อมคำบรรยายประกอบภาพ ๓๕ ภาพ

ภาพที่ ๑ พระโคตมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

สิทธัตถะโคตม หรือ พระโคตมพุทธเจ้า หรือที่นิยมเรียกว่า พระพุทธเจ้า เป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา เป็นผู้สั่งสอนพระธรรมวินัยซึ่งต่อมาเรียกว่าพระพุทธศาสนา ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทถือว่าการเรียกพระพุทธเจ้าโดยออกนามโคตรนั้นเป็นการไม่เคารพ เช่นเรียกว่า พระสมณโคดม เป็นต้น ทำให้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มักเรียกพระพุทธองค์โดยใช้ศัพท์ว่า สตฺถา ที่แปลว่า พระศาสดา แทน ปัจจุบันชาวพุทธนิยมเรียก พระโคตมพุทธเจ้า ว่า พระพุทธเจ้า

เหตุที่ทำให้ต้องเรียกพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันโดยออกชื่อนามโคตร (ชื่อสกุล) นั้น เพราะว่าในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาถือว่าพระพุทธเจ้า หรือผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวงเองนั้น เคยมีมาแล้วในอดีตนับประมาณไม่ได้ การเรียกโดยระบุนามโคตรของพระองค์ จึงเป็นการเจาะจงว่า หมายเฉพาะพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ (พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันซึ่งกำเนิดในโคตมโคตร) เท่านั้น

โดยตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน นับถือตรงกันว่า พระโคตมพุทธเจ้า ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง ๘๐ ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ ๕๔๓ ปีก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ ๔๘๓ ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล

พระโคตมพุทธเจ้า เป็นพระราชโอรสผู้ทรงดำรงตำแหน่งแห่งศากยมกุฏราชกุมารของ พระเจ้าสุทโธทนะ และ พระนางสิริมหามายา แห่งศากยวงศ์โคตมโคตร อันเป็นราชสกุลวงศ์ที่ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์มาแต่ช้านาน มีพระนามแต่แรกประสูติว่า สิทธัตถะ หรือ สิทธารถ (สิดทาด) เมื่อเสด็จออกผนวชและบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ได้รับการถวายพระนามต่างๆ อาทิ พระศากยมุนี, พระพุทธโคดม และพระโคตมพุทธเจ้า ทั้งนี้ ทรงออกพระนามพระองค์เองว่า “ตถาคต” แปลว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น คือทรงปฏิญาณว่าทรงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเข้าสู่สภาพเช่นนั้น อันได้แก่การดับทุกข์ กล่าวคือสภาวะแห่งอรหัตตผลแล้ว

ผู้วาดภาพประกอบ : กฤษณะ สุริยกานต์

ที่มา : ภาพและเนื้อหา จากสมุดภาพ ปฐมสมโพธิกถา วรรณคดีพระพุทธศานาพากไทย คัมภีร์แสดงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส

.....................................................

วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

[บทความ] จารึกพระเจ้าตากสิน ณ วัดอรุณราชวราราม



เมื่อครั้งที่อาตมาตัดสินใจจะบวชเป็นสามเณรีครั้งแรกเมื่อต้นปี ๒๕๕๖ นั้น วัดแรกที่อาตมาติดต่อมาก็คือ...วัตรทรงธรรมกัลยาณี... แต่ด้วยเหตุขัดข้องบางประการจึงทำให้อาตมาไม่สามารถเข้าร่วมการบวชได้ตามหมายกำหนดการของวัด เป็นเหตุให้ต้องชัดเชไปบวชสามเณรีและสิกขมานายังอารามภิกษุณีแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ และท้ายที่สุดอาตมาก็มีเหตุจำเป็นที่ต้องกลับมาเข้าพิธีบวชใหม่อีกครั้งที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี หากจะพิจารณาตามเหตุผลทางธรรมแล้วก็คงต้องบอกว่าเพราะอาตมาคงได้ทำบุญร่วมกันมากับหมู่คณะสงฆ์ของวัตรทรงธรรมมาก่อน ที่สำคัญทั้งพระภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ หรือ หลวงย่า และ หลวงแม่ธัมมนันทา ภิกษุณี ล้วนเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาก่อนด้วย...

วันที่อาตมาเดินทางเข้ามาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีนั้น อาตมามองเห็นศาลพระเจ้าตากสินตั้งอยู่ชิดรั้วด้านในสุดด้านซ้ายมือของ "โบสถ์" ซึ่งก็สงสัยว่าเกี่ยวข้องอะไรกับวัด ภายหลังจึงได้ทราบว่าหลวงย่าได้เขียนหนังสือเรื่อง "ใครฆ่าพระเจ้าตาก" และยังให้ความเคารพนับถือสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นอย่างมากด้วยที่พระองค์ทรงเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อกอบกู้เอกราชของบ้านเมืองอย่างไม่ย่อท้อ...ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อาตมาเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนเรื่องราวของ "วัดอรุณราชวราราม" อันความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสินที่มีต่อพระพุทธศาสนามานำเสนอไว้ ณ ที่นี้



วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อ ตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอก ใหญ่ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราชม พระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทาง ชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง

ชื่อ "วัดแจ้ง" นี้ มีเรื่องสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทูลสมเด็จฯ กรมพระยานริศรา นุวัตติวงศ์ไว้ว่า "หม่อมฉันเคยเห็นแผนที่เมืองธนบุรีที่ฝรั่งเศสทำเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ในแผนที่นั้นมีแต่วัดเลียบกับวัดแจ้ง เวลานั้นยังเป็นชานป้อมใหญ่ ซึ่งอยู่ราวโรงเรียนราชินี เพราะฉะนั้นวัดโพธิ์เป็นวัดสร้างเมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มาแล้ว


 

เมื่อ...พระเจ้าตากสินมหาราช...โปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรี และได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลาง พระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา...


วัดอรุณราชวรารามคงมีจารึกใน ...ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช...  แสดงให้เห็นถึงปณิธานอันแน่วแน่ของพระเจ้าตากสินมหาราชที่มีต่อพระพุทธศาสนา จารึกไว้ดังนี้ว่า

“อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติพระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่พระศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม

ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้เหมาะสม
เจริญสมถะวิปัสสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา

คิดถึงพ่อ พ่ออยู่คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน


...นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้าน คู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้ไว้ในมณฑป และมีการสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วัน(ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดพระราชทานคืนไปนครเวียงจันทร์)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มี พระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ร. ๒) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง แต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เสียก่อน

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ แล้วโปรดพระราชทาน พระนามวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม"

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน...


 ..................................................

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

...คำพูดที่ปลิดชีพได้...(วาทะแห่งท่านซิงหวินต้าซือ)


...เมื่อครั้งที่อาตมายังเป็นฆราวาสอยู่นั้นได้เคยแปล ...วาทะของพระอาจารย์ซิงหวินต้าซือ เจ้าอาวาสวัดโฝวกวงซัน ประเทศใต้หวัน...ไว้เมื่อปี 2541 ท่านได้พูดถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศใต้หวันไว้อย่างน่าสนใจ...ซึ่งอาตมามีความเห็นว่า...วาทะขิงท่านเรื่องนี้ยังคงทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยในปีจจุบันด้วย...


...ข้อคิดข้อเขียนเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับผู้ที่ได้ชื่อว่า "สื่อมวลชน" และ "นักเขียน"...เนื่องด้วยคมดาบหรือคมมีดใด ๆก็ไม่คมเท่าคมปากกาของนักเขียนและสื่อมวลชน...เพราะ...ปลายปากกาของท่านสามารถฆ่าคนและจิตวิญญาณของผู้คนเหล่านั้นได้...ซึ่งการฆ่าเช่นนี้มิได้ฆ่าเพียงแค่ปัจจุบันกาลเท่านั้นหากแต่ยังสามารถฆ่าได้ถึงประวัติศาสตร์ของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาเหล่านั้นอีกด้วย...จนยากนักที่จักลบเลือนได้... "สื่อมวลชน" และ "นักเขียน"...จึงเป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในสังคม...เพราะทุกอักษรที่จารึกลงบนแผ่นกระดาษนั้น ล้วนเป็นอักษรที่จักกลายเป็นประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น


ธัมมวิชชา (กาญจน์มุนี)



...คำพูดที่ปลิดชีพได้...
(วาทะแห่งท่านซิงหวินต้าซือ)


.....คำพูดที่ไม่ไว้หน้า...
ไว้เกียรติ ไว้ศักดิ์ศรี
ประดุจมีดที่ปลิดชีพได้
ทำลายซึ่งอนาคตที่สดใสรุ่งโรจน์
อีกทั้งชีวิตอันงดงามแห่งวัยรุ่น
ไปอย่างไม่เหลือเศษ.....

...อักษรคำพูดสามารถพัดเป็นลม
อันอบอุ่นแห่งฤดูใบไม้ผลิ
แต่ก็สามารถตกเป็นหิมะ
ที่ทวีคูณความหนาวเหน็บในเหมันต์

....การเปิดโปงความลับคนอื่น
การปลุกระดมสร้างความแตกแยก
โดยการป้อนความคิดที่เป็นอริให้กับมวลชน
คำพูดคำหนึ่งสามารถสร้างชาติได้
คำพูดคำหนึ่งก็สามารถ
ทำให้ชื่อเสียงศักดิ์ศรีของคน
เสื่อมเสียและพังทลาย....

.....คนที่ไม่มีศีลธรรมในใจนั้น
ไม่ต่างไปจากซากศพที่เดินได้...
....คน....เสมือนเกาะที่จมอยู่ในทะเลขยะ...
...แห่งกิเลสและความโลภ.....

...อาตมาเคยกล่าวไว้ว่า...
.... “ถ้าหากปลายปากกาของสื่อมวลชนมีศีลธรรม...
ก็สามารถฉุดช่วยไต้หวันได้ในปัจจุบัน
...และถ้าหากปากของผู้คนมีศีลธรรม
ไม่กล่าวคำพูดที่ขัดต่อสามัญสำนึก
ก็สามารถฉุดช่วยตัวเองได้”.....

...คำพูดคำวิจารณ์หรือบทความ
ที่ไม่ตรงกับความจริงขัดต่อศีลธรรม
ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อ
หรือเป้าหมายโจมตีเสียหาย เสียเปรียบ...
เสียศักดิ์ศรีถูกเหยียบย่ำทำลาย
อีกทั้งยังก่อให้เกิดกระแส
แห่งความมืดมนขึ้นในสังคม
ที่จะทำให้ผู้คนท้อแท้และสูญเสียกำลังใจ
ที่จะเป็นคนดีต่อไปในสังคม....

...การแถลงข้อมูลที่บิดเบือนความจริง.....
ทำให้สังคมที่เดิมผู้คนห่างเหินกันอยู่แล้ว
ยิ่งทวีความแตกแยกยิ่งขึ้น
และทำให้โลกที่เต็มไปด้วยความยากเย็นใบนี้
...ยิ่งหนาวเหน็บขึ้นเป็นทวีคูณ....


ร้อยตะวัน (กาญจน์มุนี  ศรีวิศาลภพ)
ปัจจุบันคือ ส.ธัมมวิชชา แห่งวัตรทรงธรรมกัลยาณี


--------------------------------------------------------

The Rhetorics of Venerable Master Xing Yun of Fo Guang Shan


The words with on respect,
No dignity, no prestige
Are alike sword which could bereave the life
Destroy the glorious opportunity
For the rest of our adolescent time
Untill the dead end of our beautiful life

Words could be a gentle warm wind of springtime
Whereas it could become a viciously blizzard
Emphasize us to the dark shivery wintriness

Sell someone down the river by their secret,
Make agitation for dividing against the people
By giving the thought of opponent and enemy,
Would bring the damage to yourself

One word could build the nation
One word could bring the honour to the end

The man with no morality in the heart
Is not different from the corpse which can walk,
Look alike an island in the rubbish sea of evil wish and avarice

If the pen of mass media is full of morals,
It could elevate the nation.
If the mounth of people is full of morals,
Without the words which contrary to conscious,
It could elevate themselves.

The commentary which is distorted
And against the morality
Not only disparage the victims
By destroying their honour
It causes the darkness to the society
Which make the people downhearted and discouraged
From being the welldoer in the world

Giving the distrorted information
Makes more and more estrangement to the people,
Increases the disharmony in the society,
And make the difficult world full of cold



--------------------------------------------------------

Roytavan has kept hese rhetorics for more than 10 years.
These are rhetorics to remind everyone who is the writer.
There is nothing sharper than penpoint.
Cause it can kill people deeply to history and soul
Harder to fade what you wrote away
Then "The Writer" is instrumental in everything of every society
Every character which was wrote on the paper
would be come a character in history at all



Translator by Roytavan (Kanmunee Srivisarnprob)
...Now I became to Dhammavijjā at Songdhammakalyani Monastery...

dhammavidja@gmail.com