วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บทความเรื่อง "วิธีบวชสามเณรีและบวชสิกขมานา"



บทความเรื่อง "วิธีบวชสามเณรีและบวชสิกขมานา"


การบวชเป็นสามเณรี

เมื่อมีสตรีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี มาขอบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชเป็นสามเณรีเหมือนอย่างที่ทรงอนุญาตให้บุรุษผู้มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปี บวชเป็นสามเณร

วิธีบวชแบบนี้ มีวิธีปฏิบัติ คือ ให้ผู้ขอบวชโกนศีรษะ ห่มผ้าเฉวียงบ่า เข้าไปกราบเท้าพระภิกษุณีสงฆ์แล้วนั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวคำขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ๓ ครั้ง ดังนี้

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

จากนั้นจึงให้กล่าวคำขอสมาทานสิกขาบท ๑๐ (ศีล ๑๐) ว่า
--------------------------------------------------------------------

๑. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นการฆ่าสัตว์
๒. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
๓. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติอพรหมจรรย์ (การมีเพศสัมพันธ์)
๔. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ
๕. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นเหตุให้ประมาท (ขาดสติ)
๖. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยงวัน)
๗. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการดูสิ่งที่เป็นข้าศึก คือ การฟ้อนรำ ขับร้อง และบรรเลงดนตรี
๘. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการลูบไล้ด้วยของหอม ทัดทรงพวงดอกไม้ การแต่งตัว และการประดับประดา
๙. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงและบนที่นอนใหญ่
๑๐ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการรับเงินและทอง


การบวชเป็นสิกขมานา

การบวชเป็นสิกขมานาคือ...การบวชขั้นต่อจากการบวชเป็นสามเณรี หมายความว่า เมื่อบวชเป็นสามเณรีจนกระทั่งอายุได้ ๑๘ ปีแล้ว เพื่อให้สามเณรีได้ปฏิบัติเคร่งครัดยิ่งขึ้นอีก พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดให้สามเณรีนั้นถือบวชอีกขั้นหนึ่งก่อนบวชเป็นพระภิกษุณี การบวชขั้นนี้เรียกว่า “สิกขมานา” แปลว่า “นางผู้กำลังศึกษา” หมายความว่า สามเณรีนั้นกำลังรักษาสิกขาบท ๖ ข้อ ในจำนวน ๑๐ ข้อนั้นให้เคร่งครัดยิ่งขึ้นอีก โดยจะล่วงละเมิดข้อหนึ่งข้อใดไม่ได้เลยตลอดระยะเวลา ๒ ปีนั้น และภายใน ๒ ปีนั้น หากสามเณรีล่วงละเมิดข้อใดข้อหนึ่ง ท่านจะต้องกลับมาเริ่มต้นสมาทานรักษาใหม่

วิธีบวชขั้นนี้ มีวิธีปฏิบัติ คือ ให้สามเณรีห่มผ้าเฉวียงบ่าเข้าไปหาพระภิกษุณีสงฆ์ ไหว้เท้าพระภิกษุณีสงฆ์แล้วนั่งกระหย่งประนมมือกล่าวคำขอสิกขาสมมติ (คือ ความตกลงยินยอมของพระภิกษุณีสงฆ์ที่จะให้เธอผู้มีอายุ ๑๘ ปี เริ่มรักษาสิกขาบท ๖ ข้ออย่างเคร่งครัดตลอด ๒ ปี ก่อนจะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุณีต่อไป) ต่อหน้าพระภิกษุณีสงฆ์ ๓ ครั้ง ว่า

ข้าแต่แม่เจ้า "ข้าพเจ้าผู้มีชื่ออย่างนี้ เป็นกุมารี(สามเณรี) ของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ ขอสิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปี" ต่อหน้าสงฆ์

ต่อจากนั้น พระภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถจะประกาศท่ามกลางสงฆ์ ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

"แม่เจ้า เจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า กุมารี (สามเณรี) ชื่ออย่างนี้ เป็นกุมารีของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ ขอสิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปีต่อหน้าสงฆ์ หากสงฆ์มีความพร้อมพรั่ง จงให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี แก่กุมารีชื่อนี้ ผู้มีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์นี้" เป็นวาจาประกาศให้ทราบ

สงฆ์ได้ให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปี แก่สามเณรีชื่อนี้ ผู้มีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ สงฆ์เห็นชอบจึงนิ่ง ข้าพเจ้าจะจำความนี้ไว้อย่างนี้

จากนั้น สิกขมานาได้เปล่งวาจาสมาทานสิกขาบท (ธรรม) ๖ ข้อ ว่า
------------------------------------------------------------------------------

๑. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นการฆ่าสัตว์ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอดเวลา ๒ ปี
๒. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอดเวลา ๒ ปี
๓. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติอพรหมจรรย์ (การมีเพศสัมพันธ์) โดยไม่ล่วงละเมิดตลอดเวลา ๒ ปี
๔. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอดเวลา ๒ ปี
๕. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นเหตุให้ประมาท (ขาดสติ) โดยไม่ล่วงละเมิดตลอดเวลา ๒ ปี
๖. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยงวัน) โดยไม่ล่วงละเมิดตลอดเวลา ๒ ปี

รวมความว่า....ตามวิธีการบวชแบบ "ญัตติจตุตถกัมมูปสัมปทา" ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น สำหรับพระภิกษุมี ๒ ขั้นตอน คือ บวชเป็นสามเณรแล้วจึงบวชเป็นพระภิกษุ ส่วนภิกษุณีมี ๓ ขั้นตอน คือ บวชเป็นสามเณรีและสิกขมานา แล้วจึงบวชเป็นพระภิกษุณี

อนึ่ง สตรีที่อายุเกิน ๒๐ ปีแล้ว ก็ต้องบวชเป็นสามเณรีและสิกขมานาก่อน แล้วจึงบวชเป็นพระภิกษุณีได้...

วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

...สังขารไม่เที่ยง.. (พระพุทธเจ้าโปรดพระวักกลิเถระเมื่อครั้งอาพาธหนัก)



พระพุทธเจ้าโปรดพระวักกลิเถระเมื่อครั้งอาพาธหนัก

พระพุทธองค์ทรงสถาปนา...พระวักกลิเถระ...ไว้ในตำแหน่ง...เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสัทธาธิมุติ...


ในพระไตรปิฎกฉบับที่ ๑๗ (พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค) ได้กล่าวถึงประวัติของท่านไว้ค่อนข้างจะแปลกออกไปจากที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ในครั้งนั้น พระวักกลิเถระเมื่อปวารณาออกพรรษาแล้ว ท่านได้ออกเดินทางมาเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขณะที่เดินทางมาถึงกลางพระนครราชคฤห์นั้น ท่านก็เกิดอาพาธหนัก เท้าทั้งสองข้างก้าวไม่ออก พวกชาวเมืองแถวนั้น นำท่านนอนไปในวอ หามท่านไปไว้ในโรงที่ทำงานของช่างหม้อเหล่านั้น แต่มิใช่เป็นโรงที่เขาพักอาศัยกัน

ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวขอให้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลวักกลิภิกษุอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด

ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วก็ลุกขึ้นจากเตียง

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า “อย่าเลย วักกลิเธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น”

พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า “ดูกรวักกลิ เธอพอทนได้หรือ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้”

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร? ดูกรวักกลิผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?”

พระวักกลิทูลตอบว่า “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระวักกลิด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พระวักกลิได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว ขอให้หามท่านไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ด้วยท่านคิดว่า ท่านเป็นพระภิกษไม่สมควรจะสิ้นชีวิตในบ้านคน อันจะนำความลำบากมาให้แก่เจ้าบ้าน ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้นจึงอุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้ เทวดาเหล่านั้น ได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว ก็หายไป ณ ที่นั้นเอง

ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งให้นำข้อความที่เทวดา ๒ องค์ที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เมื่อกลางคืนเล่าถวายพระบรมศาสดาให้ท่านพระวักกลิฟัง แล้วรับสั่งให้บอกแก่พระวักกลิว่า พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์

เมื่อท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง เพราะว่า ภิกษุผู้นั่งบนอาสนะสูงเช่นเราไม่บังควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียงแล้ว จึงเล่าพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์แก่พระวักกลิ

พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยทูลพระผู้มีพระภาคด้วยว่า

วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนักได้รับทุกขเวทนา บัดนี้ไม่เคลือบแคลงแล้วว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใด (ที่) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ (สิ่งนั้น) มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ท่าน

ท่านไม่เคลือบแคลงแล้วว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใด (ที่) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ (สิ่งนั้น) มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี กำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ท่าน ดังนี้

ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้วกลับไป

ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้น กลับไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามาได้ยินว่า พระเถระเป็นผู้มีมานะจัด มองไม่เห็นการกลับฟุ้งขึ้นมาอีก แห่งกิเลสทั้งหลาย (ที่ถูกข่มไว้ได้ด้วยสมาธิและวิปัสสนา) จึงสำคัญว่าท่านเป็นพระขีณาสพแล้ว และคิด ต่อไปอีกว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เราจะอยู่ไปทำไม เราจักเอามีดมาฆ่าตัวตาย เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงได้เอามีดที่คมมาเฉือนก้านคอ ทันใดนั้น ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้นแก่ท่าน ขณะนั้นท่านจึงทราบว่าตนเองยังเป็นปุถุชนอยู่ เลยรีบคว้าเอากัมมัฏฐานข้อเดิมมาพิจารณาเนื่องจากว่าท่านยังไม่ได้ละทิ้งกัมมัฏฐาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วมรณภาพในทันที

ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงถ้วยคำที่พระวักกลิฝากมากราบทูลพระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคเมื่อได้ฟังคำที่พระวักกลิฝากมากราบทูลแล้วจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า เราจะพากันไปยังที่อยู่ของพระวักกลิ แล้วจึงได้เสด็จไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงที่นั้นแล้ว ได้ทอดพระเนตรเห็น ร่างของท่านพระวักกลินอนอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว ในเวลานั้นก็ ปรากฏเป็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอกลอยไปมาทั่วทุกทิศ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปมาทั่วทุกทิศหรือไม่? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่าเห็น พระเจ้าข้า

พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารใจหยาบช้า ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว



..............................................................................